GETQUOTE

กลุ่มศรีเทพไทยพร้อมต่อลมหายใจผู้ป่วยโควิดวิกฤต สนับสนุนเครื่องจ่ายออกซิเจน สจล.

3 สิงหาคม 2564
     คุณประเสริฐ ไตรจักรภพ รองประธานบริหาร กลุ่มศรีเทพไทย ตัวแทนตระกูลไตรจักรภพ มอบเงินบริจาคสมทบทุนสร้างเครื่องจ่ายออกซิเจนอัตราการไหลสูง มูลค่า 275,000 บาท ที่ถูกพัฒนาด้วยคนไทย จากนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ รศ.นพ. ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ เป็นผู้รับมอบเงินบริจาค เพื่อนำเครื่องออกซิเจนอัตราการไหลสูง ไปแจกจ่ายแก่โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่มีระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ทั้งอยู่ระหว่างการส่งตัวหรือรอเตียงเพื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อหวังบรรเทาวิกฤตเครื่องช่วยหายใจขาดแคลน
     คุณประเสริฐ ไตรจักรภพ กล่าวว่า “ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ขึ้นหลักหมื่นในปัจจุบัน ซึ่งผมได้เล็งเห็นว่าทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์นั้น เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่วิกฤตในขณะนี้ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยวิกฤตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากที่รอเตียงเพื่อเข้ารับการรักษา และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อบรรเทาความวิกฤตของระบบทางเดินหายใจ ผมและครอบครัวในฐานะคนไทยคนหนึ่ง จึงไม่สามารถละเลยต่อปัญหานี้ได้
จึงยินดีมอบเงินบริจาคสมทบทุนสร้างเครื่องจ่ายออกซิเจนอัตราไหลสูงสำหรับผู้ป่วยในสถานะสีแดงถึงแดงเข้ม ที่เสี่ยงต่อการหายใจล้มเหลว เพื่อพยุงลมหายใจให้กับผู้ป่วยในภาวะวิกฤตก่อนถึงมือแพทย์ โดยเราหวังอย่างยิ่งว่าเครื่องนี้จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดลงได้
     อีกทั้งเราได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสามารถของนักวิจัยไทย ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรให้การสนับสนุนทางด้านการพัฒนาเครื่องมือแพทย์อย่างจริงจัง ดังเช่นที่ สจล.ได้พัฒนาเครื่องจ่ายออกซิเจนอัตราการไหลสูง ที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมเท่าเครื่องมือแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังสามารถออกแบบให้ใช้งานง่าย สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีระบบมอนิเตอร์ทางไกล ที่ง่ายต่อการจัดการในสถานการณ์      โควิดระลอกใหม่ อีกทั้งลดต้นทุนได้มากถึง 3-4 เท่า ซึ่งผมมองว่าเครื่องมือทางการแพทย์ที่ดีแบบนี้ ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ย่อมทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งนั่นคือการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยวิกฤตมีชีวิตอยู่ต่อไปได้”